หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ตรวจหาโรคหัวใจแต่เนิ่นๆ ด้วย Apple Watch ผ่านแอป Cardiogram วินิจฉัยได้แม่นยำถึง 97% ฝีมือทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ระยะหลังนี้สังเกตว่า Apple Watch จะเริ่มมีพัฒนาการไปในทางอุปกรณ์ตรวจสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่เราเคยนำเสนอเรื่องนวัตกรรมตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดบน Apple Watch กันไปแล้ว ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ทีมวิจัยจาก University of California ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบน Apple Watch สำหรับตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจทั่วไป ซึ่งมีความแม่นยำถึง 97% เลยทีเดียว

แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Cardiogram เป็นผลลัพธ์ของโปรเจ็คท์ Health eHeart Study ของ University of California ที่เริ่มค้นคว้าวิจัยกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2016 และสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระยะเวลากว่า 1 ปีนี้ ทางทีมวิจัยได้ทดสอบ Cardiogram กับคน 6,000 คน โดยมีประมาณ 200 คนที่เป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation - AF) ทีมวิจัยจึงใช้ข้อมูลจากผู้ป่วย 200 คนนี้ในการพัฒนาอัลกอริธึมสำหรับตรวจหาโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วให้กับ Cardiogram

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากหัวใจห้องบนเต้นเร็วมากและไม่สม่ำเสมอ จนสูญเสียการหดตัวของหัวใจห้องบน ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้น้อยลง จนมีเลือดตกค้างในหัวใจห้องบน ซึ่งจะแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด และอาจหลุดเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด หากลิ่มเลือดนี้วิ่งเข้าสู่สมองอาจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง หรือบางรายอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยและรักษาจึงทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยหลายรายไม่มีอาการเตือนมาก่อนนั่นเอง สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษา จะได้รับอุปกรณ์ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจโดยเฉพาะในรูปแบบของสายรัดข้อมือหรือแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 30 วัน หรืออาจได้รับการฝังเครื่องตรวจวัดในร่างกาย

ข้อดีของ Cardiogram บน Apple Watch คือ ตัวแอปพลิเคชันสามารถทำงานได้เองโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องตั้งค่าหรือคอยสั่งการใดๆ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์ หรือคอยเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกเดือน แค่มี Apple Watch ก็ใช้งานได้ทันที และยังสามารถตรวจวัดความผิดปกติได้แม่นยำถึง 97%

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยกล่าวว่า อัลกอริธึมดังกล่าวยังต้องมีการพัฒนาอีกมากกว่าจะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ 100% ในขณะนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ยืนยันอีกทีหนึ่ง

ถัดจากโปรเจ็คท์นี้ ทีมวิจัยมีแผนจะพัฒนาต่อยอด Cardiogram สามารถตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้ด้วย เนื่องจากทางทีมวิจัยเชื่อว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหน้าต่างสู่ระบบอวัยวะภายในทั้งหมด การตรวจสอบข้อมูลการทำงานของหัวใจจึงอาจใช้บอกอาการอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วยนั่นเอง

 

-----------------------------------
ที่มา : The Verge

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 22/05/2017

apple watch IT Cardiogram





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy