หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

RAM นั้นสำคัญไฉน? สมาร์ทโฟนยุคนี้ควรจะมี RAM เท่าไหร่กันแน่? ไขข้อข้องใจไปพร้อมกันที่นี่

เวลาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง สิ่งที่เรามักจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือ RAM เพราะเราเชื่อกันว่า RAM คือปัจจัยสำคัญที่จะบ่งบอกว่าสมาร์ทโฟนทำงานได้ “เร็ว” แค่ไหน ในปีที่ผ่านมา มาตรฐาน RAM บนสมาร์ทโฟนถูกยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการรุกตลาดอย่างหนักของมือถือจีนที่เน้นอัดสเปกแรงๆ ราคาถูกๆ ทำให้สมาร์ทโฟนระดับ high-end ต้องแข่งกันเพิ่ม RAM เป็น 3 GB บ้าง 4 GB บ้าง บางรุ่นให้มาถึง 8 GB ก็มี


Zenfone AR สมาร์ทโฟน RAM 8 GB รุ่นแรกของโลก

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเข้าสู่ปี 2017 หลายคนจึงคาดหวังจะได้เห็นสมาร์ทโฟนสเปกสูงๆ RAM 4 GB ขึ้นไป ยิ่งถ้าเป็นรุ่นเรือธงต้องจัดเต็ม 6 GB หรือ 8 GB ถึงจะเร็วแรงสมกับความพรีเมียม แต่กลับกลายเป็นว่าเรือธงที่เปิดตัวในงาน MWC 2017 ไม่มีรุ่นไหนที่มาพร้อม RAM เกิน 4 GB เลย (ยกเว้น Huawei P10 Plus) นอกจากนี้ยังค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเรือธงระดับแถวหน้าอย่าง Samsung Galaxy S8 และ S8 Plus ก็จะมี RAM แค่ 4 GB เท่ากับ Galaxy S7 edge เมื่อปีที่แล้ว ทำให้หลายคนรู้สึกผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย ล่าสุดผู้บริหารของ Huawei ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า RAM 4 GB เหลือเฟือแล้วสำหรับสมาร์ทโฟน ถึงจะเพิ่ม RAM เข้าไปอีกก็ไม่ได้ช่วยอะไรนอกจากทำให้เครื่องแพงขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่อง RAM ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า แท้จริงแล้วสมาร์ทโฟนควรมี RAM เท่าไหร่กันแน่ 4GB เพียงพอกับเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือไม่ แล้วจะรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตได้หรือเปล่า เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เรามาทำความเข้าใจเรื่องของ RAM กันก่อนดีกว่าครับ

 

RAM คืออะไร และมีไว้ทำไม?

RAM หรือชื่อเต็ม Random Access Memory เป็นหน่วยความจำสำหรับพักข้อมูลของโปรแกรมที่กำลังใช้งานอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้หน่วยประมวลผลหรือ CPU เข้าถึงได้ทันที หากไม่มี RAM เครื่องจะทำงานช้าลงเพราะ CPU จะต้องเสียเวลาไล่หาข้อมูลที่บันทึกอยู่ในหน่วยความจำถาวร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ROM (Read-only Memory) เหมือนเราไล่หาเพลงในแผ่น CD ไปเรื่อยๆ จนเจอเพลงที่ต้องการนั่นแหละครับ

สำหรับสมาร์ทโฟน เมื่อมีการเรียกใช้แอปพลิเคชัน ข้อมูลชิ้นโตของแอปนั้นๆ จะถูกดึงจาก ROM ขึ้นไปบน RAM และจากนั้นข้อมูลจะกระจายเป็นส่วนเล็กๆ เก็บไว้ในหน่วยความจำ cache ของ CPU อีกทีหนึ่ง เมื่อจะประมวลผลก็จะดึงข้อมูลจาก cache และ RAM เพื่อความรวดเร็วนั่นเอง

หากใครยังไม่ค่อยเข้าใจ ให้นึกภาพตามนี้ครับ :

สมมติว่า CPU เป็นพ่อครัวและกำลังจะทำกับข้าว cache คือเขียงที่วางอยู่ตรงหน้า RAM คือตู้เย็นที่เก็บวัตถุดิบต่างๆ เอาไว้ ส่วน ROM ก็คือตลาดสดหน้าปากซอย เมื่อถึงเวลาลงมือทำกับข้าว CPU สามารถหยิบวัตถุดิบจากบนเขียงและในตู้เย็นมาต้มผัดแกงทอด (ประมวลผล) ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องถ่อไปถึงตลาดสดให้เสียเวลา ถ้าไม่มีตู้เย็น CPU จะต้องเดินไปตลาดทุกครั้งเมื่อต้องการวัตถุดิบทำกับข้าว คงไม่ต้องบอกว่าช้าและเหนื่อยขนาดไหน เปรียบเทียบแบบนี้แล้วน่าจะเห็นความสำคัญและหน้าที่ของ RAM ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

 

RAM ในสมาร์ทโฟนทำงานอย่างไร?

RAM ในมือถือต่างจาก RAM ในคอมพิวเตอร์ PC เพราะใน PC เราสามารถเปิดโปรแกรมขึ้นมาพร้อมๆ กันกี่โปรแกรมก็ได้จนกว่า RAM จะหมดแล้วเครื่องจะแฮงก์ไปเอง แต่ Android และ iOS จะมีการจัดการทรัพยากร RAM ที่เข้มงวดกว่า โดยแอปพลิเคชันที่เราเปิดค้างไว้จะเก็บข้อมูลไว้ใน RAM เมื่อสลับหน้าต่างขึ้นมาแอปพลิเคชันนั้นๆ ก็จะแสดงผลได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดข้อมูลใหม่ แต่หาก RAM หมด ระบบปฏิบัติการจะดึงพื้นที่ RAM คืนจากแอปพลิเคชันที่เราเปิดค้างไว้ หมายความว่าหากเราสลับแอปนั้นขึ้นมาใช้งาน ก็จะต้องโหลดข้อมูลขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นนั่นเอง


ฟีเจอร์ split-screen ของ Android Nougat ที่ทำให้ใช้งานแอปได้พร้อมกัน 2 แอป

นอกจากเรื่องแอปพลิเคชันพื้นหลังแล้ว RAM ยังมีประโยชน์โดยตรงกับฟังก์ชัน Multitasking ในสมาร์ทโฟนบางรุ่น ที่ทำให้เราแบ่งจอใช้งาน 2 แอปพลิเคชันพร้อมๆ กันได้ เพราะข้อมูลของแอปทั้ง 2 ตัวจะถูกดึงไปไว้บน RAM และเรียกใช้งานพร้อมๆ กัน จึงต้องการพื้นที่ RAM มากเป็นพิเศษครับ

 

RAM แค่ไหนถึงจะพอสำหรับสมาร์ทโฟน?

หลังจากทำความเข้าใจเรื่อง RAM กันไปพอสมควร ในที่สุดก็มาถึงใจความสำคัญกันสักทีครับ หากดูจากแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ในปัจจุบัน RAM ที่น้อยที่สุดที่สมาร์ทโฟนควรจะมีคือ 2 GB หากต่ำกว่านี้อาจจะมีปัญหาเรื่องการทำงานแบบ Multitasking คือทำได้แต่อาจหน่วงๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่หากต้องการให้รองรับ VR ด้วยควรจะเพิ่ม RAM ขึ้นมาอีกนิดเป็น 3 GB เพื่อประสบการณ์ VR ที่ลื่นไหล ส่วนตัวแล้วคิดว่า RAM 4 GB ที่นิยมกันในปัจจุบันเพียงพอที่จะรองรับเทคโนโลยีในขณะนี้ได้อย่างไม่สะดุดแล้ว อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เช่นการสตรีมมิ่งหนัง VR หรืออื่นๆ ที่ต้องรีดเอาพลังของสมาร์ทโฟนออกมามากขึ้น อาจต้องยกระดับเพดานไปเป็น RAM 6 GB ส่วน RAM 8 GB นั้นเชื่อว่าคงอีกพักใหญ่กว่าเราจะจำเป็นต้องใช้ความแรงระดับนี้ และเมื่อมี RAM มาก ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เทคโนโลยีแบตเตอรีจึงต้องพัฒนาควบคู่ไปกับ RAM ด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องพูดถึงก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไม่ได้ขึ้นอยู่กับ RAM เพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาสมรรถนะของ CPU, การบริหารทรัพยากรของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์, ลักษณะการใช้งาน และปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย

สรุปแล้วก็คือ ในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแต่ละครั้งเราไม่ควรเน้นที่ RAM เยอะๆ เพียงอย่างเดียว แต่ควรเลือกซื้อตามสไตล์การใช้งานของเราเป็นหลัก หากเน้นถ่ายรูป ถ่ายคลิป ความจุภายใน (ROM) จะสำคัญกว่า RAM เพราะเราต้องการพื้นที่ในการเก็บไฟล์ หากเน้นโซเขียล เล่น Facebook เล่น LINE ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกรุ่นที่ราคาแพงนักเพราะแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ได้ใช้ทรัพยากรเครื่องมาก ซื้อรุ่นสเปกแรงๆ มาก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ แต่หากเน้นเล่นเกม เน้นกราฟิกจัดหนัก ก็ต้องเลือกสมาร์ทโฟนระดับบนที่มี CPU แรงๆ และ RAM สัก 3 GB ขึ้นไป เพื่อให้เล่นเกมได้อย่างลื่นไหลเต็มอารมณ์ครับ

 

---------------------------------------
บทความโดย : techmoblog.com

Update : 09/03/2017

RAM





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy