หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

หรือ Tesla จะไปไม่รอดในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ตัวเองเป็นคนเริ่มต้น?

เกือบๆ สิบปีก่อนหน้านี้ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์กึ่งอัตโนมัติยังเป็นเทคโนโลยีที่ไกลเกินเอื้อม แม้แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Toyota และ Honda จะพัฒนารถยนต์ไฮบริดออกมา แต่ก็ยังห่างไกลจากนิยามของรถยนต์ไฟฟ้าในอุดมคติที่เราวาดฝันไว้ จนกระทั่ง Tesla เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลถึง 200 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง พร้อมด้วยระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ (Autopilot) ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลกยนตรกรรมไปตั้งแต่นั้น

แต่ในปัจจุบัน Tesla กำลังตกที่นั่งลำบากจากปัญหาคอขวดในการผลิต หรือที่ Elon Musk เรียกว่า Production Hell ซึ่งทำให้ลูกค้าที่จองรถรุ่น Model 3 ต้องรอเป็นปีกว่าจะได้ขับ ที่น่ากลัวคือปัญหานี้อาจนำความยุ่งยากตามมาอีกมากมายหลายอย่าง


Tesla Model 3

ปี 2006 Elon Musk เบนเข็ม Tesla จากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฮเอนด์ มาเป็นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ความสำเร็จของรถยนต์ Model S ทำให้ Tesla ถูกจับตามองจากผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ มากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดระดับไฮเอนด์ รถรุ่นนี้เองที่ทำให้โลกได้ประจักษ์ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้ขับขี่ต้องการจากรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจึงเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองออกมาตีตลาดบ้าง แถมบางรุ่นยังมีราคาถูกกว่า เช่น Bolt ของ Chevrolet รถยนต์ Tesla จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไป การกลับมาหลังช่วง Production Hell จึงอาจไม่ง่ายนัก


Chevrolet Bolt EV

ขณะเดียวกัน ปัญหา Production Hell ก็ทำให้ Tesla ต้องโฟกัสที่การผลิตมากขึ้น จนหน่วยการผลิตโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ Tesla เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัทด้านนวัตกรรมได้ไม่เต็มปากอีกต่อไป เพราะเริ่มจะเหมือนบริษัทผลิตรถยนต์เข้าไปทุกทีๆ

จริงอยู่ที่ Tesla ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมไม่ใช่ทั้งหมดของอุตสาหกรรมยานยนต์ หาก Tesla ต้องการประสบความสำเร็จในวงการนี้ อาจจำเป็นต้องลดการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมลง แล้วหันมาโฟกัสการผลิตให้เต็มที่ แต่นั่นก็หมายถึงการเปลี่ยนจุดยืนของบริษัทเช่นกัน

หรือ Tesla จะกลายเป็น BlackBerry แห่งวงการยนตรกรรม ที่ไปไม่รอดในอุตสาหกรรมที่ตัวเองเป็นคนจุดประกายขึ้น?

การตัดสินว่า Tesla ล้มเหลวอาจจะเร็วเกินไป เพราะหากมองอีกมุมหนึ่ง Tesla ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้ผลิตรถยนต์แต่แรกแล้ว เพราะนอกจากรถยนต์ Tesla ยังมีธุรกิจด้านพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือนอย่างทั้งแบตเตอรีกำเนิดไฟฟ้า Powerwall และ Powerpack ทุกอย่างที่ Tesla ทำมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การลดมลภาวะ เพียงแต่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดจนกลายเป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์ไป เป็นไปได้หรือไม่ว่ายอดขายไม่ใช่ความสำเร็จที่ Tesla ตั้งเป้าไว้แต่แรก แต่เป็นความสำเร็จเชิงนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม?


Tesla Powerwall

และที่สำคัญ หากมองไปที่ความตั้งใจของ Elon Musk เมื่อปี 2006 เราจะเห็นว่าเป้าหมายของ Tesla คือการที่ทุกคนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ การจุดประกายนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ๆ ในโลกพากันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดออกมามากขึ้นๆ นั่นหมายความว่า ต่อให้ Tesla พ่ายแพ้ในวงการนี้ แต่เป้าหมายสูงสุดก็ยังสำเร็จอยู่ดี นั่นคือ "ทุกคนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้"

ต่อจากนี้ Tesla จะเลือกเดินทางไหน และปลายทางที่รออยู่คืออะไร คงต้องดูกันต่อไปยาวๆ

 

---------------------------------------
ที่มา : engadget

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 16/11/2017

Tesla





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy