หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

สตีเฟน ฮอว์คิง เตือน เทคโนโลยีจะทำให้ผู้คนเหลื่อมล้ำและแตกแยกกันมากขึ้น และทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์อัจฉริยะและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ออกมาพูดถึงความล่มสลายของมนุษยชาติในอีก 1,000 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่งและไม่ยั่งยืน และแนะว่ามนุษย์ควรจะรีบไปตั้งรกรากในอวกาศในรูปแบบอาณานิคมอวกาศหรือย้ายไปอยู่บนดาวดวงอื่นกันให้ได้ก่อนจะหมดเวลา ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และล่าสุดฮอว์คิงก็ได้ออกมาเตือนมนุษยชาติอีกครั้ง โดยกล่าวว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่อันตรายที่สุด เนื่องจากเป็นยุคที่เราต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวงมากมายแต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเรากลับกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ได้อีก

สารจากฮอว์คิงในครั้งนี้ ได้รับการเผยแพร่บนหนังสือพิมพ์ The Guardian ซึ่งเขาได้เขียนอธิบายถึงความกังวลของตัวเองว่า เทคโนโลยีที่กำลังเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วนี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงานชนชั้นกลาง ทำให้ชนชั้นกลางเริ่มตกอยู่ในความสิ้นหวังและมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงเรื่อยๆ พร้อมกับนั่งดูหนทางทำกินค่อยๆ ถูกแย่งชิงไปทีละอย่าง ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นกลไกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันคือความเจริญก้าวหน้าแต่มันคือการทำลายสังคมเช่นกัน

การแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะมันทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเห็นวิถีชีวิตอันหรูหราสะดวกสบายของคนรวยได้ง่ายและเป็นรูปธรรมกว่าในอดีต สื่อเหล่านี้เข้าถึงได้ง่ายจนหลายคนคาดไม่ถึง แม้กระทั่งคนยากคนจนก็เข้าถึงได้ ยกตัวอย่างเช่นในทะเลทรายซับซาฮารา คนแถวนั้นเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้มากกว่าน้ำสะอาดเสียอีก นั่นหมายความว่าเราทุกคน ไม่ว่าจะยากรวยมีจน ไม่สามารถหลีกหนีความเหลื่อมล้ำที่กำลังดำเนินอยู่นี้ไปได้เลย

หลังจากที่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเห็นความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายตัวกว้างขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือการหลั่งไหลของคนชนบทที่ต้องการแสวงหาโอกาสทำกินในเมือง และเมื่อพวกเขารู้ว่าชีวิตในเมืองไม่ได้หรูหราเหมือนในโซเชียลมีเดียที่คนเขาโชว์กัน ก็จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงโชคที่ดินแดนอื่น กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพจำนวนมหาศาล โดยหารู้ไม่ว่า ประเทศที่พวกเขาหลั่งไหลเข้าไปต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคเพื่อรองรับพวกเขา อีกทั้งยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้พลเมืองที่เป็นเจ้าของดินแดนเริ่มไม่พอใจ และเติมเชื้อไฟให้ลัทธิประชานิยมโหมกระพือขึ้น

ฮอว์คิงมองว่า ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด และกรณี Brexit ที่ผลโหวตต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการลุกขึ้นต่อต้านกับพวก “อภิชน” (elites) เพราะพลเมืองชั้นล่างและชั้นกลางเชื่อว่าผู้นำไม่ได้สนใจดูแลพลเมืองอย่างพวกเขาอย่างจริงจัง ในขณะที่พวกอภิชนคนใหญ่คนโตที่อยู่ดีกินดีออกมาชี้แนะให้พวกเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นโดยตรง การต่อต้านอภิชนจึงเป็นคำตอบ ซึ่งทรัมป์และ Brexit ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่พวกเขาต้องการ


ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และ Brexit เป็นตัวอย่างของการลุกขึ้นต่อต้านอภิชนตามมุมมองของฮอว์คิง

สิ่งที่ฮอว์คิงกังวลที่สุดคือ ในขณะที่มนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาด ประชากรล้นโลก อาหารขาดแคลน แต่เรากลับอยู่ในสภาพที่แก่งแย่งกันเพราะทรัพยากรเกือบทั้งหมดตกไปอยู่ในครอบครองของคนเพียงหยิบมือ เรากำลังถูกแบ่งแยกและแตกแยกกันมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ต้องการความสามัคคีที่สุด เรามีอาวุธที่จะทำลายโลกใบนี้แต่เรายังไม่มีวิธีจะหนีไปให้พ้นจากมันได้

แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป? ฮอว์คิงกล่าวว่าการจะก้าวข้ามช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดของมนุษยชาติไปได้นั้น เราจะต้องทำลายกำแพงระหว่างชาติและแบ่งปันทรัพยากรกันให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโลกนี้ให้มีความเจริญทัดเทียมกันทุกพื้นที่จะทำให้ผู้คนไม่ต้องดั้นด้นไปแสวงหาโอกาสทำกินที่แผ่นดินอื่นอีก และปัญหาเรื่องผู้อพยพก็จะหมดไปด้วย มนุษยชาติสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ แต่ก่อนอื่น อภิชนทั้งหลายจะต้องตระหนักถึงปัญหานี้และเริ่มแบ่งปันทรัพยากรให้ผู้อื่นเสียก่อน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็ยากที่จะคาดเดา

 

---------------------------------------
ที่มา : Cnet , The Guardian

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 31/12/2016





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy