หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

Ensogo ธุรกิจ Daily Deal ล้มได้อย่างไร? พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ

ข่าวการปิดกิจการสายฟ้าแลบทั่วทั้งอาเซียนของ Ensogo เว็บไซต์ขายดีลชื่อดัง ทำเอาทั้งลูกค้าที่ซื้อดีลไปและร้านค้าที่ลงดีลไว้สับสนวุ่นวายกันเป็นแถว ลูกค้าที่มีดีลอยู่ในมือก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะร้านค้าก็ยังไม่ได้เงินส่วนแบ่งจาก Ensogo เหมือนกัน จะขอคืนเงินก็ไม่ทราบจะไปขอกับใคร เพราะ Ensogo ได้เลย์ออฟพนักงานทั้งหมดไปแล้วพร้อมๆ กัน อีกสิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ ทำไม Ensogo จึงล้มหายตายไปจากอย่างปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้ เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ Daily Deals กันแน่?
 

แถลงการณ์ล่าสุดจาก Ensogo

ธุรกิจดีลรายวัน (Daily deal) คือ e-commerce รูปแบบหนึ่งที่เคยได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเว็บไซต์ที่ดำเนินธุรกิจดีลรายวันจะไม่ได้ขายสินค้าเอง แต่จำหน่ายคูปองโปรโมชันต่างๆ สำหรับสินค้าและบริการ รวมไปถึงการท่องเที่ยวและร้านอาหาร โดยจะเปิดให้ลูกค้าเลือกซื้อดีลที่ชอบในเวลาที่จำกัด ด้วยวิธีนี้ ลูกค้าก็จะได้ดีลที่ชอบ ในขณะที่ร้านค้าก็ได้ประชาสัมพันธ์ร้านของตนไปในตัว ส่วนบริษัทก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการขายคูปองในฐานะคนกลาง เรียกว่ามีแต่ได้กับได้กันทั้ง 3 ฝ่าย

แล้วทำไมดีลในเมืองไทยถึงไม่ Work ?

หากไม่นับเรื่องของการบริหารจัดการภายใน จริงๆแล้วการให้ส่วนลดหรือโปรโมชันของเว็บดีลในต่างประเทศนั้นมาจากแนวคิดที่ว่า แทนที่จะเสียเงินประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การลงเว็บดีลจะได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อนั่นคือ

1. การประชาสัมพันธ์ร้านค้าผ่านเว็บดีลเอง โดยดีลที่มีราคาถูกน่าสนใจและมีผู้สนใจเยอะ ก็เหมือนได้โฆษณาในเว็บที่มีคนเข้าชมเยอะๆฟรี
2. คนที่ซื้อดีลของเว็บไปเมื่อนำไปใช้ก็มีโอกาสที่จะซื้อสินค้าอื่นหรือกลับมาซื้อซ้ำก็จะลดต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ของร้านค้า   

แต่ในเมืองไทยต้องยอมรับว่าบางร้านค้าที่มองว่าเว็บดีลเป็นเว็บที่ใช้ขายสินค้ามากกว่าที่จะใช้เป็นที่ประชาสัมพันธ์หรือหาลูกค้าใหม่ ทำให้มีพ่อค้าหัวใสบางเจ้าเสนอดีลที่ให้สินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่าสินค้าหรือบริการปกติของทางร้าน ซึ่งมักจะมีกรณีที่มีการร้องเรียนหรือโพสข้อความในเว็บไซต์สังคมออนไลน์อยู่บ่อยๆถึงความไม่โปร่งใสของร้านค้าที่เสนอดีลให้ รวมถึงข้อจำกัดของการใช้ดีลที่อาจจะไม่แจ้งให้ทางผู้ซื้อดีลทราบล่วงหน้า เมื่อมีร้านค้าที่ไม่ซื่อสัตย์มากขึ้นก็ทำให้ร้านค้าดีๆที่ตั้งใจใช้เว็บดีลเพื่อโปรโมทสินค้าจริงๆไม่สามารถขายดีลได้ด้วย ส่วนนี้เป็นปัญหาที่ทางเว็บที่ให้บริการอาจจะต้องแก้ไขและดูแลผู้เสนอดีลที่ไม่ดีให้ทั่วถึง อย่างไรก็ดีปัญหานี้คงจะเป็นแค่ปัญหาเพียงส่วนนึงที่ทำให้เว็บดีลได้รับความนิยมน้อยลง แต่ ณ.วันนี้ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของทางผู้ให้บริการที่ต้องการปิดให้บริการนั้นยังไม่ชัดเจน รวมถึงการเยียวยาผลกระทบของผู้ที่ซื้อดีลไปแล้วนั้นก็ยังคงต้องดูต่อไปว่าจะมีการแสดงความรับผิดชอบอย่างไร 


 

อย่างไรก็ดี ณ.ขณะนี้ ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวได้ไปรวมตัวกันในเพจ รวมผู้ได้รับผลกระทบensogo เพื่อร่วมกันพูดคุยหาทางออก โดยล่าสุด คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้แนะนำให้ผู้เสียหายรวมตัวกันมาร้องเรียนที่ สคบ. เพื่อเตรียมดำเนินคดีฟ้องร้องต่อบริษัท Ensogo และชดเชยค่าเสียหายต่อไป

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EDTA ได้ออกมาแนะนำแนวทางแก้ปัญหาสำหรับร้านค้าและผู้บริโภค โดยสรุปใจความได้ว่า

  1. ร้านค้าที่ลงดีลกับ Ensogo ไม่สามารถปฏิเสธการใช้ดีลของลูกค้าได้ เพราะถือว่าธุรกรรมระหว่างร้านค้าและลูกค้าเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว โดยทางร้านค้าจะต้องไปติดตามค่าส่วนแบ่งดีลจากทาง Ensogo เอาเอง ซึ่งส่วนนี้แนะนำว่าให้แจ้งความดำเนินคดีจาก Ensogo ให้เร็วที่สุด
  2. สำหรับลูกค้าที่ซื้อดีลไปแล้ว หากพบร้านค้าใดๆ ปฏิเสธดีลที่ซื้อมาอย่างถูกต้อง สามารถโทร 1212 เพื่อร้องเรียนไปยังศูนย์กลางในการดูแลเรื่องนี้ หรือที่ สคบ. โทร. 1166
  3. หากลูกค้าไม่ต้องการรับสินค้าหรือบริการ สามารถขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือขอรับบริการภายใน 45 วันนับแต่วันที่ที่ซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายใน 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบหรือบริการ อันเป็นสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
  4. หากลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ขอให้แจ้งเรื่องไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อขอให้ระงับการจ่ายเงินไปยัง Ensogo
  5. ในส่วนของสินค้าหรือบริการ รวมถึง Ensogo cash ที่เป็นบริการโดยตรงของ Ensogo ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถประสานงานได้ทั้งสองช่องทาง คือ 1212 ที่ สพธอ. ซึ่งจะมีการประสานการทำงานร่วมกับกับ สคบ. เพื่อให้ Ensogo เยียวยาความเสียหายดังกล่าวต่อไป

สามารถอ่านแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของ EDTA ฉบับเต็มได้ที่นี่ 

สุดท้ายนี้ ทีมงาน Techmoblog ได้รวบรวมรายชื่อร้านค้าที่ยังรับดีลของ Ensogo เอาไว้ด้านล่างบทความ ซึ่งอาจจะไม่ครบทั้งหมดเพราะมีการอัปเดตอยู่เรื่อยๆ ซึ่งสามารถติดตามได้จากเพจ รวมผู้ได้รับผลกระทบensogo หรือโทรสอบถามกับทางร้านค้านั้นๆ ได้โดยตรงครับ

รายชื่อร้านค้าที่มีความรับผิดชอบยังเปิดรับดีลจาก Ensogo อยู่ (อาจมีเพิ่มเติมจากนี้)

 

  • Burger King
  • Centra Central Station Hotel
  • Kanemochi Icecream
  • Katsuya
  • Maisen
  • Masizzim 
  • Osha Cafe เอเชียทีค โกดัง 10 
  • Outback Steakhouse 
  • Patara Fine Thai Cuisine 
  • Paul
  • SF Cinema
  • Sizzler
  • Squeeze
  • Terrace
  • The Pizza company 
  • คูปองสำหรับล่องเรือดินเนอร์ ไวท์ออร์คิด 
  • พุทธรักษา รีสอร์ท
  • The Regent Cha-Am Beach Resort
  • ลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร
  • Aladdin Roof Bar
  • Coffee World (ยกเว้นสาขาในสนามบินสุวรรณภูมิ)
  • ห้องอาหาร Glass House โรงแรม Eastin Grand Hotel Sathorn
  • Buddhi Belly
  • Hard Rock Café Bangkok
  • Zinnia Bedding Store
  • Humming Birds Kitchen and Garden
  • Carl's Jr.
  • Daisy Restaurant & Coffee
  • Simply W เซ็นทรัล ลาดพร้าว

 

--------------------------------------- 
เรียบเรียงโดย : techmoblog.com

Update : 24/06/2016

Ensogo





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy