หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

นักวิจัยไอเดียเจ๋ง นำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) มาใช้เป็น Password ปกป้องฐานข้อมูลคนไข้ ยืนยันปลอมยากกว่าลายนิ้วมือหลายเท่า

ยิ่งเทคโนโลยีเดินหน้าไปไกลเท่าไหร่ดูเหมือนว่าเราจะยิ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น รหัสผ่านหรือ Password เป็นปราการด่านแรกที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมูลของเราถูกเปิดเผยหรือขโมยไป แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นแฮ็คเกอร์ได้ เราจึงเริ่มหันไปใช้ระบบ Biometric อย่างการสแกนลายนิ้วมือและการสแกนม่านตา และล่าสุดสิ่งที่จะนำมาใช้ปกป้องข้อมูลอันมีค่าของเราก็คือ กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG

กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG หากใครนึกไม่ออกว่าคืออะไร ให้ลองนึกถึงสัญญาณชีพจรเขียวๆ ในหน้าจอข้างเตียงผู้ป่วยที่เราเห็นบ่อยๆ ในละคร กราฟ ECG จะแสดงกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยการรับสัญญาณไฟฟ้าผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดบนผิวหนังบริเวณหน้าอก รูปคลื่นที่เห็นจะเป็นตัววัดอัตราและความสม่ำเสมอของการเต้น ไปจนถึงความเสียหายที่เกิดกับหัวใจ แล้วกราฟ ECG สามารถนำมาใช้เป็นรหัสผ่านได้อย่างไร?

มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ECG ของคนเรานั้นแตกต่างและมีรูปแบบค่อนข้างเฉพาะตัว ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Binghamton University จึงได้นำงานวิจัยเหล่านี้มาต่อยอด โดยการพัฒนาเป็นรหัสผ่านเสริมสำหรับปกป้องข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่ถูกส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของศูนย์การแพทย์ต่างๆ Zhanpeng Jin หนึ่งในทีมวิจัยผู้มีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยศาตราจารย์ในสำนักวิชาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์กล่าวว่า ในแต่ละวันมีการเก็บข้อมูลสุขภาพจำนวนมากจากผู้ใช้แก็ดเจ็ตต่างๆ และสมาร์ทโฟน ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกส่งไปยังฐานข้อมูลเพื่อให้แพทย์ติดตามและวิเคราะห์ผู้ป่วยได้ แต่ระหว่างการส่งข้อมูลอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเจาะเข้ามาดูหรือขโมยข้อมูลส่วนตัวของคนไข้หลุดออกไปได้ ทีมวิจัยของเขาจึงเกิดไอเดียที่จะเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ แต่เรียบง่ายและราคาไม่แพง ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็เลือกใช้ ECG

อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่อ่อนไหว และ ECG ของแต่ละบุคคลก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ลายนิ้วมือจึงเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่ ECG เหนือกว่าลายนิ้วมือก็คือมันปลอมแปลงยากมาก เนื่องจากเจ้าของข้อมูลจะต้องปลดล็อคด้วยตนเองเท่านั้นและยังต้องมีชีวิตอยู่ด้วย

ในขณะนี้ ทีมวิจัยกำลังพัฒนาอัลกอริธึ่มใหม่ๆ อยู่ แต่ยังไม่ได้ทดสอบกับผู้ป่วย โดยกล่าวปิดท้ายว่า แม้ ECG จะยังไม่เหมาะกับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้ในบางกรณีที่ต้องการเสริมแกร่งระบบรักษาความปลอดภัยให้รัดกุมขึ้นไปอีกขั้นในอนาคต

 

--------------------------------------- 
ที่มา : Motherboard

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 20/01/2017





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy