หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

นักวิจัยสร้างพายุเสมือนจริงด้วย Super Computer เปิดโอกาสให้นักวิทย์ศึกษาการก่อตัวของพายุอย่างใกล้ชิดได้เป็นครั้งแรก หวังต่อยอดสู่การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่อไป

บางพื้นที่ของโลกเช่นสหรัฐอเมริกามักต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างพายุทอร์นาโดบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่นเหตุการณ์ "2011 Super Outbreak" ซึ่งภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาถูกถล่มด้วยพายุทอร์นาโดนับร้อยลูกอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน นับเป็นวาตภัยครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการศึกษาธรรมชาติของพายุ เพื่อค้นหาว่าอะไรที่ทำให้พายุก่อตัวรุ่นแรงเช่นนั้น และหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก แต่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการก่อตัวของพายุเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากมีตัวแปรจำนวนมากและมีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นแรงลม ทิศทาง ความเร็ว อุณหภูมิ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องเก็บรวบรวมจากพื้นที่ที่กว้างมากๆ ในระดับร้อยตารางกิโลเมตรขึ้นไป เกินขีดจำกัดของวิธีวิเคราะห์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และการเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างใกล้ชิดก็เป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่จะศึกษาการก่อตัวของพายุอย่างละเอียดคือการสร้างมันขึ้นมาอีกครั้ง และเครื่องมือที่จะทำเช่นนั้นได้ก็คือซูเปอร์คอมพิวเตอร์นั่นเอง


วิดีโอการจำลองพายุเมื่อปี 2011 แบบสมจริงครบทุกรายละเอียด

Leigh Orf ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric Science) จาก University of Wisconsin-Madison ได้จำลองการก่อตัวของพายุซูเปอร์เซลล์ (พายุฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่ที่พัฒนาไปเป็นทอร์นาโดได้) ในเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อปี 2011 โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Blue Waters ของ University of Illinois สร้างพื้นที่จำลองกว่า 194 ตารางกิโลเมตรขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ และแบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 20,000 ล้านส่วน พื้นที่เล็กๆ ที่แบ่งออกมาทุกส่วนจะถูกนำไปคำนวณความเร็วลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น หยาดน้ำฟ้า และปัจจัยอื่นๆ อย่างละเอียด แล้วจึงนำมารวมกันอีกครั้งเพื่อสร้างแบบจำลองของพายุที่เหมือนจริงที่สุด การคำนวณใช้หน่วยประมวลผลของ Blue Waters 20,000 คอร์ และใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน


Leigh Orf เจ้าของโปรเจ็คท์จำลองพายุด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์

แม้จะลงทุนลงแรงไปมากแต่ผลที่ได้ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะการสร้างพายุจำลองที่เหมือนจริงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในพายุอย่างใกล้ชิดได้เป็นครั้งแรก พร้อมตัวแปรต่างๆ อย่างละเอียดให้ศึกษาวิเคราะห์ได้แบบหมดเปลือกโดยไม่ต้องเสี่ยงเข้าไปเก็บข้อมูลถึงกลางพายุเลย การคิดค้นวิธีป้องกันและลดความรุนแรงของพายุจึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป และจะช่วยชีวิตผู้คนนับพันได้ในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

 

---------------------------------------
ที่มา : engadget

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 20/03/2017





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy