หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

Facebook ตกเป็นจำเลยสังคมหลังการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ พลิกโผ ฐานปล่อยให้ข่าวปลอมแพร่หลายอย่างอิสระจนทำให้ชาวอเมริกันไขว้เขว

ในที่สุดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยชัยชนะตกอยู่ในมือของโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ผู้มีแนวคิดสุดโต่งแบบ "อเมริกาต้องมาก่อน" และนโยบายกีดกันเชื้อชาติและศาสนา ทำให้พลเมืองอเมริกันต่างแปลกใจว่าทำไมผลการเลือกตั้งจึงออกมาเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ตอนทำโพลสำรวจนางฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำมาตลอด เป็นไปได้หรือไม่ว่า พลเมืองจำนวนมากถูกล้างสมองจากข้อมูลปลอมที่แพร่หลายผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เมื่อประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในสังคมอเมริกัน โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ตกเป็นจำเลยไปโดยปริยาย


ตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ (ซ้าย) และนางฮิลลารี คลินตัน (ขวา)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบน Facebook มีนักสร้างข่าวลวงอยู่จริง ส่งผลให้ผู้ลงคะแนนที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งจำนวนมากต่างกล่าวโทษว่าข่าวปลอมที่แพร่กระจายอยู่บน Facebook เป็นสาเหตุที่ทำให้พลเมืองอเมริกันตัดสินใจผิดพลาด ส่วนนักวิจารณ์ก็ออกมาผสมโรงด้วยว่า Facebook เป็นแหล่งข่าวล้างสมองที่ทำให้ชาวอเมริกันไขว้เขวและลงคะแนนให้ทรัมป์ โดยปล่อยให้ทรัมป์เผยแพร่ข้อความที่มีอิทธิพลต่อความคิดของพลเมืองได้เป็นวงกว้างโดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทรัมป์ก็ออกมายอมรับเองว่า โซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เขาชนะเลือกตั้งโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องลงทุนหาเสียงมากเท่าคู่แข่ง (แต่ไม่ได้ยอมรับว่าตนเกี่ยวข้องกับการปล่อยข่าวปลอม)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่แต่งขึ้นมาอย่างไม่มีมูลหลายเรื่องที่แพร่ไปในโซเชียลเน็ตเวิร์คราวกับไฟลามทุ่ง และส่งผลต่อการตัดสินใจของพลเมืองอเมริกัน เช่นเรื่องที่นางฮิลลารี คลินตัน เป็นนักค้าอาวุธ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาเป็นต้น

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO ของ Facebook ยืนกรานว่า พวกตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของการเลือกตั้งแต่อย่างใด การโทษ Facebook ว่าเป็นเครื่องมือที่บิดเบือนผลการเลือกตั้งเป็นความคิดที่เหลวไหล และยังยืนยันว่าเนื้อหาบน Facebook มีเค้ามูลความจริงถึง 99% จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างที่ถูกกล่าวหา

สื่อต่างๆ เองก็แตกกันเป็นสองเสียง บ้างก็บอกว่า Facebook เป็นเครื่องมือล้างสมองจริง บ้างก็บอกว่านี่ไม่ใช่ความผิดของ Facebook ซึ่งหากจะว่ากันตามตรงแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็คิดผิดทั้งคู่ เพราะถึงแม้ข้อมูลขยะใน Facebook จะทำให้ประชาชนไขว้เขวได้ก็จริง แต่ชาวอเมริกันไม่ได้เสพสื่อผ่าน Facebook อย่างเดียว ยังมีทั้ง Twitter, Instagram และอืีกหลายต่อหลายแหล่ง ดังนั้นเพียงแค่อิทธิพลของ Facebook ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเขวไปแน่นอน แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ Facebook ควรจะจัดการกับข่าวปลอมพวกนี้อย่างจริงๆ จังๆ เสียที ทั้งๆ ที่มาร์คเองก็เคยบอกว่า เขาจะไม่ยอมให้ Facebook กลายเป็นสื่อหรือกระบอกเสียงให้ใคร แต่ในเมื่อปล่อยให้มีข่าวปลอมแพร่กระจายไปทั่วเช่นนี้ เราก็ไม่อาจจะทำใจเชื่อคำมั่นสัญญานั้นได้

New York Times มองว่า ผู้บริหารอาวุโสของ Facebook เองก็กำลังเป็นกังวลกับอิทธิพลที่โซเชียลเน็ตเวิร์คของตนมีต่อสังคมอยู่แล้ว แต่มาร์คก็ไม่ได้แสดงความชัดเจนในการดำเนินนโยบายใดๆ โดยบอกเพียงว่าจะทำการบล็อคข่าวปลอมต่อไป แต่จะทำอย่างระมัดระวัง เพราะการยืนยันความจริงนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

หากวกกลับมาเรื่องใกล้ตัว ในสังคมโซเชียลมีเดียของประเทศไทยก็เกลื่อนกลาดไปด้วยข้อมูลขยะและ clickbait ที่หิวกระหายยอดคลิก นอกจากน่ารำคาญแล้วยังชอบแถมไวรัสหรือมัลแวร์ต่างๆ มาให้ด้วย ซึ่งปัญหานี้ก็เรื้อรังมานานแล้วและไม่ได้รับการแก้ไขสักที หากนำปัญหาในโซเชียลบ้านเราไปเทียบกับที่อเมริกาแล้ว จะบอกว่า Facebook ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาก็คงไม่ผิด ถึงเวลาแล้วที่ Facebook จะต้องทำอะไรสักอย่างกับข้อมูลขยะและ clickbait เหล่านี้ แต่ในเมื่อผู้เสพสื่ออย่างเราไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมอะไรได้ เราจึงต้องป้องกันตัวเองโดยการหมั่นตรวจสอบข้อมูลอยู่เสมอ เช็คให้ชัวร์ มั่วไม่แชร์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมครับ

---------------------------------------
ที่มา : technologyreview

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 15/11/2016

facebook Trump





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy