หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

นักวิทย์จีนโคลนนิ่งลิงสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก จุดประกายความหวังใหม่ในการโคลนนิ่งมนุษย์

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ของจีนประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงโดยใช้เทคนิคเดียวกับการโคลนนิ่งแกะดอลลีในอดีต นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการโคลนนิ่งสัตว์ตระกูลไพรเมต จุดประกายความหวังในการโคลนนิ่งมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้ง

จงจง และ หวาหวา ลูกลิงแสม 2 ตัวถือกำเนิดขึ้นด้วยเทคนิค Somatic cell nuclear Transfer (SCNT) ซึ่งเป็นการแทนที่นิวเคลียสของเซลล์ไข่ลิงแสมตัวเมียด้วยนิวเคลียสของเซลล์ที่ได้มาจากเนื้อเยื่อของลิงแสมตัวผู้ ในกรณีนี้มีการปลูกถ่ายนิวเคลียสทั้งสิ้น 109 ตัวอย่าง มีเพียง 21 ตัวอย่างเท่านั้นที่แข็งแรงพอที่จะนำไปฝากไว้ในครรภ์ของลิงแสมตัวเมียได้ ตัวอ่อนที่เติบโตในครรภ์และคลอดออกมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับลิงตัวต้นแบบ กระนั้นก็ตาม การโคลนนิ่งด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะนอกจากอัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อนจะต่ำแล้ว ตัวอ่อนส่วนใหญ่ที่คลอดออกมาก็มักจะมีความบกพร่องทางพันธุกรรมบางอย่าง ในกรณีนี้มีเพียงจงจงและหวาหวาเท่านั้นที่สมบูรณ์แข็งแรง (ยังมีตัวอ่อนที่รอคลอดอีกในอนาคต) ด้วยเหตุนี้การโคลนนิ่งมนุษย์จึงหมิ่นเหม่ต่อการผิดหลักจริยธรรม และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์ความรู้ด้านการโคลนนิ่งก้าวหน้าช้ากว่าที่ควรจะเป็น


แผนภาพกระบวนการโคลนนิ่งลิงด้วยเทคนิค SCNT

ทีมนักวิทยาศาสตร์เจ้าของผลงานกล่าวว่า แม้งานวิจัยของพวกเขาจะทำให้การโคลนนิ่งมนุษย์เป็นไปได้มากขึ้น แต่เจตนาหนึ่งเดียวของพวกเขาคือการสร้างลิงที่มีความเหมือนทางพันธุกรรมเพื่อใช้ในการวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากลิงมีลักษณะทางชีวภาพใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นที่นิยมใช้ในการทดลอง เช่น หนู การศึกษาทดลองกับลิงจึงน่าจะให้ผลที่แม่นยำกับมนุษย์มากกว่า


จงจงและหวาหวา ลิงโคลนนิ่งคู่แรกของโลก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้แล้ว ยังตั้งเป้าที่จะเป็นมหาอำนาจในเชิงวิชาการด้วย ซึ่งทางการจีนพยายามผลักดันประเทศด้วยนโยบาย "World Class 2.0" ในการผลักดันมหาวิทยาลัยในประเทศอย่างน้อย 6 แห่งให้ติดอันดับสถาบันการศึกษาระดับท็อปของโลกภายในปี 2020 นอกจากนี้ยังพยายามดึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากนานานาชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศจีนอย่างถาวรผ่านโปรแกรม "The Thousand Talents" ซึ่งมอบสิทธิพิเศษในการทำงานและการอยู่อาศัยหลายอย่าง ทำให้ระยะหลังประเทศจีนผลิตนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนมากและมีผลงานวิชาการในระดับนานาชาติมากมาย

 

---------------------------------------
ที่มา : Institute of Neuroscience, 1000Plan

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 31/01/2018





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy