หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

คิดเห็นอย่างไร? จีนคุมเข้มเกมมือถือ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง หวังแก้ปัญหาเยาวชนติดเกม

ปัญหาเด็กติดเกมเป็นประเด็นที่มักจะถูกยกมาถกเถียงกันอยู่เสมอในสังคมไทย แต่ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะในบ้านเราเท่านั้น ที่ประเทศจีนก็ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและดูท่าจะหนักหนากว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียมาก ที่ผ่านมาทางการจีนพยายามแก้ปัญหาด้วยหลายวิธี ตั้งแต่คุมเข้มร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ไปจนถึงการก่อตั้งสถานบำบัด แต่ก็ดูเหมือนจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ล่าสุดทางการจีนจึงได้ประกาศใช้มาตรการใหม่กับเกมมือถือยอดนิยมในประเทศ โดยจำกัดให้เยาวชนเล่นได้เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้กับเกม Honour of Kings (王者荣耀) เกมมือถือจากค่ายยักษ์ใหญ่ Tencent ที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศจีนและมียอดผู้เล่นสูงถึง 163 ล้านคนต่อเดือน ทำให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ถูกจำกัดเวลาเล่นเหลือเพียง 1 ชั่วโมงต่อวันและเข้าเกมได้ตั้งแต่หลัง 3 ทุ่มเป็นต้นไปเท่านั้น ส่วนเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จะถูกจำกัดให้เล่นได้วันละ 2 ชั่วโมง

หลังจากที่มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้ ผู้เล่นรวมไปถึงประชาชนบางส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์มาตรการนี้กันอย่างเผ็ดร้อนว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่รัดกุมและไม่ตรงจุด เด็กๆ อาจจะใส่ชื่อและอายุปลอมในการสมัครเล่นเกม หรืออาจจะนำหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองมาใช้ก็ได้ การตรวจสอบจึงเป็นไปได้ยาก และไม่ช่วยให้เยาวชนใช้เวลากับเกมน้อยลงแต่อย่างใด

จากข้อมูลของสำนักข่าว Beijing News ผู้เล่นกว่า 57% ของเกม Honour of Kings เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาซึ่งมีอายุน้อยกว่า 12 ปี อย่างไรก็ตาม Tencent ได้ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว และระบุว่าผู้เล่นที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี มีเพียงแค่ 3.62% เท่านั้น


ตัวอย่างภาพภายในเกม Honour of Kings

Honour of Kings เป็นเกมมือถือแนว MOBA (แนวเดียวกับ RoV และ Mobile Legend) ที่ได้รับความนิยมสูงมาก และตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อบ่อยมากเช่นกัน ทั้งเคยถูกหนังสือพิมพ์วิจารณ์ว่าเป็น “ยาเสพติด” และ “ยาพิษ” หลังจากที่เด็กอายุ 13 ปีคนหนึ่งกระโดดตึกฆ่าตัวตายหลังจากถูกต่อว่าเรื่องเล่นเกม ทำเอาหุ้นของ Tencent ร่วงทันทีกว่า 5.1% นอกจากนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้เล่นอายุ 17 ปีจากมณฑลกวางตุ้งก็เกิดอาการช็อคหลังจากโหมเล่นเกมติดต่อกัน 40 ชั่วโมง ทำให้เกม Honour of Kings และเกมอื่นๆ ถูกผู้หลักผู้ใหญ่มองในแง่ไม่ดีมากขึ้น

เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยแต่ไม่หนักเท่า หากใครยังจำกันได้สมัยที่เกม Ragnarok Online เปิดให้บริการในบ้านเราใหม่ๆ ความฮิตของมันก็ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่มองว่าเกมออนไลน์เป็นสิ่งมอมเมาเยาวชนและเลยเถิดไปจนถึงทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง จนช่วงหนึ่งมีการจำกัดเวลาไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นหลัง 4 ทุ่ม ผู้เล่นที่มีอายุเกินต้องไปยืนยันตัวตน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อให้สามารถเล่นเกมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่กฎนี้จะหายไปอย่างเงียบๆ ในเวลาต่อมา


บรรยากาศการแข่งขัน E-Sport

หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ปัจจุบันนี้เกมไม่ได้เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ได้เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจและกีฬาระดับโลกที่เรียกกันว่า E-Sport ซึ่งประเทศจีนเองก็เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกีฬา E-Sport เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และนักกีฬาจากจีนก็ทำผลงานอยู่ในระดับหัวแถวมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าเราสามารถผลักดันการเล่นเกมให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ยังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะผลักดันเยาวชนให้เล่นเกมอย่างสร้างสรรค์และมีวินัย? ใครมีความคิดเห็นอย่างไรนำมาพูดคุยแบ่งปันกันในช่องคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยครับ

 

---------------------------------------
ที่มา : Mashable

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 11/07/2017





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy