หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ทำไม Facebook ถึงเตรียมปรับให้คลิปเล่นเสียงเองแบบอัตโนมัติ จากเดิมที่เคยตั้งค่าปิดเสียงไว้ ?

หากใครที่เล่น Facebook บนสมาร์ทโฟนอยู่เป็นประจำ คงจะทราบกันเป็นอย่างดีว่าปกติแล้ว Facebook มีฟังก์ชัน autoplay หรือระบบเล่นวิดีโอบนหน้า New Feed ให้อัตโนมัติแบบไร้เสียง แต่ภายในเร็วๆ นี้ เรากำลังจะได้พบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ หลัง Facebook ได้ออกมาประกาศถึงการปรับกลไกการทำงานพื้นฐานของฟังก์ชัน autoplay ให้เล่นคลิปวิดีโอพร้อมกับเสียงให้แบบอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างเสียงฮือฮาแก่ผู้ใช้งานบางส่วนไม่ใช่น้อย เนื่องจากหากจู่ๆ มีเสียงดังขึ้นขณะเลื่อนดูคลิปในที่สาธารณะคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ แต่ผู้ใช้งานยังคงพออุ่นใจได้บ้าง เนื่องจากเราสามารถตั้งค่าไม่ให้เล่นเสียงแบบอัตโนมัติได้ 

ถึงแม้ว่าฟีเจอร์ดังกล่าวอาจจะดูสร้างความกังวลแก่ผู้ใช้งานไปบ้าง แต่อย่างไรก็ดี Facebook คงมีเหตุผลบางอย่างที่ต้องการเพิ่มฟีเจอร์นี้ขึ้นมา ซึ่งถึงแม้ว่าเราไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคืออะไร แต่ล่าสุดทางเว็บไซต์ Techcrunch ได้ออกมาคาดการณ์ถึงเหตุผล 7 ข้อที่อาจเป็นปัจจัยให้ Facebook ตัดสินใจเพิ่มฟีเจอร์เล่นเสียงอัตโนมัติในอนาคต แต่เหตุผลดังกล่าวจะมีอะไรบ้างนั้น เราลองไปติดตามพร้อมๆ กันดีกว่าครับ

 

1. ลดความยุ่งยาก

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่า Facebook พยายามที่จะควบคุมระบบเสียงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งานให้มีความยุ่งยากน้อยลง เนื่องจากหากคลิปวิดีโอมีการเล่นพร้อมเสียงให้แบบอัตโนมัติแล้ว ก็ช่วยลดขั้นตอนในการที่ต้องมากดปุ่มเปิดเสียงของตัวเครื่อง รวมไปถึงกดเปิดเสียงวิดีโอแต่ละคลิปนั่นเอง

 

2. ผู้ที่ได้ทดลองใช้ต่างชื่นชอบ

Facebook เปิดเผยว่า ฟีเจอร์การเล่นคลิปวิดีโอพร้อมเสียงอัตโนมัติ มีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีจากผู้ที่ได้ร่วมทดสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว Facebook คงไม่เปลี่ยนมาใช้ฟีเจอร์นี้แน่หากมันส่งผลให้อัตราการใช้งานลดน้อยลงไป แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลดีเมื่อนำมาใช้งานจริงก็เป็นได้ แต่เรื่องนี้จะดีต่อผู้ใช้งานจริงหรือไม่ คงต้องติดตามกันอีกครั้งหนึ่ง

 

3. แอปอื่นก็มีฟีเจอร์นี้เหมือนกัน

หนึ่งในคู่แข่งรายสำคัญของ Facebook อย่าง Snapchat ก็มีฟังก์ชันการเล่นเสียงแบบอัตโนมัติเช่นเดียวกัน ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นที่นิยมทั้งผู้ใช้ทั่วไปที่ชื่นชอบการรับชมวิดีโอ รวมไปถึงผู้ทำธุรกิจที่ต้องการลงโฆษณาด้วยนั่นเอง ดังนั้น การที่ Facebook เพิ่มฟีเจอร์นี้ขึ้นมา อาจเนื่องด้วยเหตุผลด้านการแข่งขันบนท้องตลาดให้ทัดเทียมคู่แข่งก็เป็นได้

 

4.เพื่อการ "โฆษณา"

หากพูดถึงเรื่องโฆษณาแล้ว "เสียง" นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ชมให้หันมาดูโฆษณา ซึ่งคู่แข่ง Snapchat ที่เริ่มใช้ระบบเล่นวิดีโอพร้อมเสียงไปก่อนหน้านี้ เปิดเผยว่า มีผู้ใช้งานรับชมโฆษณาพร้อมเสียงไปแล้วกว่า 60% ซึ่งหากกลับมามองมาที่ Facebook นั้น โฆษณานับว่าเป็นสิ่งที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก รวมทั้ง ยังเป็นแหล่งทำเงินของ Facebook ด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาดูแล้ว ดูเหมือนว่าภายระยะนี้ Facebook จะเน้นไปที่โฆษณามากกว่าเดิม จากที่เราจะได้เห็นจากกระแสข่าวที่เตรียมเพิ่มโฆษณาบน Messenger รวมไปถึงโฆษณาขณะถ่ายทอดสด (Live) ซึ่งหากบนหน้า News Feed จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้โฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ซึ่งการเล่นเสียงให้กับวิดีโอจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้ใช้จดจำคลิปโฆษณาได้ดีกว่าเดิมนั่นเอง

 

5.ลดความยุ่งยากในการฝัง Subtitle

บนหน้า News Feed เราจะเห็นได้ว่า ผู้สร้างสรรค์คลิประดับมืออาชีพ มักจะมีการฝัง subtitle อันสวยงามประกอบกับคลิปวิดีโอ เพื่อช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยไม่ต้องกดฟังเสียง อย่างไรก็ดี การที่มีข้อความปรากฏบนคลิปวิดีโอนั้น อาจเป็นการดึงความสนใจของผู้ชมให้อ่านแต่ข้อความอย่างเดียวโดยไม่สนใจภาพได้ รวมทั้ง การฝัง subtitle ลงคลิปวิดีโอ ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยุ่งยากไปซักนิดสำหรับผู้ใช้งานบางส่วน ทำให้คลิปวิดีโอของผู้ใช้งานทั่วๆ ไป ที่ไม่มี subtitle อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างกับจุดมุ่งหมายหลักของ Facebook ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง "เพื่อนและครอบครัว" ของผู้ใช้งานเป็นลำดับแรก

 

6.เพื่อให้คลิปน่าดูมากขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Facebook ได้มีการเข้าไปเจรจากับทางค่ายเพลงต่างๆ อย่างหนัก ในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำเพลงมาใส่เป็นเสียงประกอบให้แก่วิดีโอของตนเองได้ ซึ่งหาก Facebook สามารถทำสำเร็จ จะช่วยเป็นการป้องกันกรณีถูกลบเสียงเพลงภายในคลิปวิดีโอออกเนื่องด้วยเหตุผลด้านลิขสิทธิ (เหมือนใน Youtube) และจะทำให้คลิปต่างๆ ของผู้ใช้งานที่สร้างขึ้นมานั้นดูน่ารับชมมากยิ่งขึ้น

 

7. ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยหูฟังไร้สาย

ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ากระแสหูฟังไร้สายเริ่มมีความนิยมมากขึ้น หลังผู้ผลิตหลายแบรนด์ เริ่มส่งหูฟังไร้สายลงเข้าแข่งขันบนท้องตลาดกันอย่างมากมาย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ทาง Apple ก็ได้เปิดตัว AirPods หูฟังโฉมใหม่ที่ใช้งานได้ยาวนานสุด 24 ชั่วโมง (หากพกเคสชาร์จไปด้วย) ซึ่งการเติบโตของหูฟังไร้สาย และธรรมชาติของหูฟังไร้สายที่มักจะมีน้ำหนักเบา และสามารถสวมใส่ได้ตลอดเวลานี่เอง จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมคลิปที่เล่นเสียงแบบอัตโนมัติได้แบบไม่ต้องกังวลว่าจะมีเสียงหลุดลอดออกไป แม้ว่าจะอยู่ในที่สาธารณะก็ตาม ซึ่งไม่แน่ว่า Facebook อาจปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเรื่องนี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเบื้องต้นก็มาจากสื่อเพียงสำนักเดียวเท่านั้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด Facebook ถึงตัดสินใจเพิ่มฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานบางส่วนไม่ต้องการขึ้นมา และจะส่งผลถึงจำนวนผู้ใช้งานหรือไม่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ฟีเจอร์ดังกล่าวอาจไปได้สวยก็เป็นได้ เนื่องจากตอนที่ฟีเจอร์ News Feed เปิดตัวในช่วงแรกๆ ก็มีผู้ใช้งานบางส่วนไม่เห็นด้วยและรวมตัวประท้วง แต่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นหนึ่งในฟีเจอร์เด่นของ Facebook ที่ได้รับความนิยมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปครับ 

---------------------------------------
ที่มา : Tech Crunch

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

 

Update : 20/02/2017

facebook





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy