หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ส้มตำถาด อันตรายจริงหรือ? ไขข้อข้องใจ ทำไม ไม่ควรทาน

 

 

ดูเหมือนว่า หนึ่งในเมนู ยอดฮิตสำหรับใครหลายๆ คน อย่าง "ส้มตำถาด" ส้มตำที่ถูกจัดวางบนถาดสังกะสีขนาดใหญ่ เสริฟพร้อมเครื่องเคียงมากมาย จุใจ กำลังกลายเป็นประเด็นในเรื่องความปลอดภัยด้านโภชนาการซะแล้ว เนื่องจากล่าสุดผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเปิดเผยว่า ถาดสังกะสี กับส้มตำ อาจก่อให้เกิดสารเคมี สะสมในร่างกายได้ และยิ่งไปกว่านั้น สีที่เคลือบอยู่บนถาด อาจจะหลุดร่อนออกมาได้ในขณะรับประทานอาหาร และ ปะปนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบ เมนู ส้มตำถาด ที่มีทั้งเชื่อ และ ไม่เชื่อว่า เมนูโปรดที่ได้รับประทานกันมานาน จะทำให้เกิดอันตรายได้ ในวันนี้ ทีมงานเว็บไซต์​ Techmoblog ได้ทำการรวบรวมข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาให้ได้ชมกันว่า ส้มตำถาดนั้น อันตรายจริงหรือไม่ และอันตรายที่ว่านั้นเกิดจากอะไร เราลองมาชมกันเลยครับ

จุดเริ่มต้นของ เรื่องราว ความไม่ปลอดภัยใน ส้มตำถาด

 

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา นางสาวดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของภาชนะ ที่ใช้สำหรับใส่ส้มตำอย่าง ถาดสังกะสี โดยการหยดกรด แอซีติก หรือกรดน้ำส้มสายชูลงไป แล้ว แช่ทิ้งไว้ในอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากการทดสอบก็พบว่า ถาดตัวอย่างเกือบทั้งหมดนั้น มีปริมาณสารแคดเมี่ยมเกิดมาตรฐานถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งสารดังกล่าวนั้นอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายเราได้

ทำไมต้องใช้ กรดแอซีติก ในการทดสอบ

 

 

กรดน้ำส้ม หรือ กรดแอซีติก (Acetic acid) สารประกอบเคมีชนิดหนึ่งที่พบได้ใน น้ำส้มสายชู ซึ่งมีฤทธิ์ กัดกร่อนใกล้เคียงกับ มะนาว ซึ่งสารประกอบดังกล่าวนั้นจะทำปฏิกิริยา กับถาดสังกะสี และ ถาดโลหะ โดยกัดกร่อนภาชนะที่รองรับสารประกอบดังกล่าวเอาไว้ ทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ และ เราสามารถรับสารเคมีดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านอาหารที่เรารับประทาน

สารแคดเมี่ยม คืออะไร

 

 

สารแคดเมี่ยม คือสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการถูกกัดกร่อน หรือการกัดเซาะ และ ชะล้างของน้ำ ผ่านโลหะหรือสังกะสี และยังรวมไปถึงการถูกกัดกร่อนโดยกรดแอซีติก ซึ่งสารดังกล่าวนั้นจะสะสมในร่างกาย และ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย

อันตรายจากสาร แคดเมี่ยม

 

 

สำหรับการหายในในอากาศ ที่มี แคดเมีี่ยม ปนอยู่ จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อปอด และ อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วน ในกรณีส้มตำถาด นั้นเป็นการรับสารเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน ซึ่งจะส่งผลให้ สารแคดเมี่ยมเข้าไปกัดกร่อนกระเพาะ ทำให้อาเจียน และ อาจท้องเสียได้ นอกจากนี้ หากร่างกายค่อยๆ สะสมสารพิษดังกล่าวเรื่อยๆ อาจส่งผลให้ เป็นโรคไต และ ปอดเสีย รวมถึง อาจเป็นโรคกระดูกเปราะได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยพบว่า ผู้ที่ได้รับสารแคดเมี่ยมสะสมในร่างกายในระยะยาว อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ 100% ว่า สารแคดเมี่ยม ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สัตว์ทดลอง เป็นมะเร็งปอดจริง

ใช้ภาชนะสังกะสี โลหะ มาตั้งแต่รุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่เห็นใครเป็นอะไรเลย?

 

 

การวิจัยในครั้งนี้ มีตัวแปรสำคัญคือ ถาดสังกะสี หรือโลหะ และ ปฏิกิริยาที่เกิดจาก กรด แอซีติก ซึ่งนั่นหมายความว่า ตัวแปรที่ทำให้เกิดอันตรายคือ ถาด และ อาหารที่มีรสเปรี้ยว ซึ่ง ไม่ว่าจะเป็นถาด, จานสังกะสี, ปิ่นโตสมัยก่อน ที่ใช้กันมาอย่างยาวนานนั้น เราอาจจะไม่ได้นำมันมาเพื่อใส่ ส้มตำ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวโดยเฉพาะ แต่ สำหรับส้มตำถาดนั้น ตัวถาดสังกะสีเอง สัมผัสกับส้มตำ ครั้งแล้วครั้งเล่า โอกาสที่จะเกิดการกัดกร่อน และ เกิดสารพิษอย่าง แคดเมี่ยม ก็สูงกว่าการใช้งานในรูปแบบอื่น ซึ่งสภาพแวดล้อม และการใช้งานที่ต่างกัน ก็อาจจะส่งผลที่แตกต่างกันได้

ผู้เชี่ยวชาญแนะ ภาชนะประเภท กระเบื้องเคลือบ เหมาะสมที่สุด

 

 

จากการทดสอบนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า เราไม่ควรที่จะนำถาดโลหะเคลือบสี มาใส่อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือมีกรดแอซีติก โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า เราควรที่จะเลือกใช้ภาชนะประเภทกระเบื้องเคลือบสีขาว ซึ่งเป็นภาชนะที่ปลอดภัยที่สุด สำหรับใส่อาหาร

สรุปความเห็นจากทีมงาน เกี่ยวกับ ส้มตำถาด

 

 

สำหรับกรณีนี้ ถือว่าเป็นกรณี ที่ได้รับการทดสอบจริง จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งเผยให้เห็นอันตรายของส้มตำถาดอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่า เราจะคิดว่า เราใช้ภาชนะดังกล่าวเป็นประจำ ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ความจริงแล้ว สารเคมี อาจจะสะสมอยู่ในร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ซึ่ง การออกมาเปิดเผยถึงข้อมูลความเสี่ยงที่เกิดจาก ส้มตำถาดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ สำหรับเราเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณก็รู้เท่าทัน และ มีโอกาสในการป้องกันสารเคมีที่ไม่พึงประสงค์เข้าสู่ร่างกายได้ แต่สำหรับใครที่ชื่นชอบ ติดใจ ส้มตำถาด จนไม่สามารถเลิกทานได้ อันนี้ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนแล้วล่ะ คงจะว่ากันไม่ได้ครับ

Update : 02/09/2020

ส้มตำถาด





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy