หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

ศิลปินญี่ปุ่นไอเดียบรรเจิด เปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องดนตรี ล่าสุดเล่นคอนเสิร์ตด้วย "พัดลม" และ "ทีวี" จะมันส์แค่ไหนไปดูกัน!

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่แก้ยาก แม้บางส่วนจะนำไปรีไซเคิลได้ แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่ถูกทิ้งเอาไว้กองสุมเป็นภูเขาโดยไม่รู้ว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไรต่อไป แต่ยังมีชายคนหนึ่งมองเห็นความเป็นไปได้ในกองขยะเหล่านี้ และเปลี่ยนมันให้เป็นเครื่องดนตรีสุดแนวที่เป้นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเขาก็คือ Ei Wada แห่งวง Open Reel Ensemble

Ei Wada ศิลปินชาวญี่ปุ่นอดีตโปรแกรมเมอร์ ได้นำเอาขยะเหล่านี้มาดัดแปลงทำเป็นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ รวมทั้งแต่งเพลงขึ้นมาเอง จนได้รวบรวมพรรคพวกตั้งวง Open Reel Ensemble ขึ้นมา ด้วยความแปลกแหวกแนวและความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่งทำให้พวกเขาเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของศิลปินผู้บรรเลงเพลงจากขยะ


วง Open Reel Ensemble

ในช่วงแรกนั้น Wada และสมาชิกวงได้พยายามสร้างเครื่องดนตรีจากขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่นานด้วยการลองผิดลองถูก จนในที่สุดก็ทำได้สำเร็จโดยการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสังเคราะห์เสียง ถึงขั้นนี้ไม่ว่าจะสายไฟหรือสวิทช์อะไรก็สามารถเอามาดีดสีตีเป่าเป็นเครื่องดนตรีได้หมด และทำได้ดีไม่ต่างจากเครื่องดนตรีจริงๆ

ล่าสุด Wada ได้เปิดแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้ง โดยมาพร้อมซิงเกิ้ลใหม่ 2 เพลงที่เล่นโดยใช้ “พัดลม” กับ “โทรทัศน์” จะมันส์ขนาดไหนชมได้ในคลิปด้านล่างครับ

ในการแสดงคอนเสิร์ตบางครั้ง วง Open Reel Ensemble จะอัดเสียงของผู้ชมทั้งหลายเอาไว้ก่อน แล้วเล่นดนตรีมิกซ์กับเสียงที่อัดกันแบบสดๆ ตรงนั้น ทำนองยิ่งแปลกประหลาดเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะ Wada คิดว่ามันคือท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครดี


Wada กำลังบรรเลง kankisenthizer

นอกจากนี้ พวกเขายังได้ใช้เครื่องตัดเลเซอร์และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาปรับแต่งพัดลมทิ้งแล้วให้เป็นเครื่องดนตรีชนิดใหม่ที่เขาตั้งชื่อให้มันว่า “kankisenthizer” ซึ่งมาจาก kankisen ที่แปลว่าพัดลมระบายอากาศ และคำว่า synthesizer พร้อมกับนำโทรทัศน์รุ่นเก่าที่ใช้หลอดรังสีแคโทดมาต่อเข้ากับแอมป์กีต้าร์ ใช้หน้าจอโทรทัศน์เป็นเครื่องเคาะจังหวะ โทรทัศน์แต่ละเครื่องจะให้เสียงต่างๆ กันไป ส่วนกีตาร์พัดลมนั้นก็ให้เสียงที่เกือบเหมือนกีต้าร์ไฟฟ้าที่มี synthesizer จริงๆ

ความสามารถของ Ei Wada และวง Open Reel Ensemble ทำให้เราได้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างไม่จำกัด แม้บางสิ่งที่ดูไม่มีค่าก็สามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ได้หากเราไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ ส่วนใครที่ฟังแล้วติดใจก็ติดตามผลงานของ Open Reel Ensemble กันได้ตามสะดวกครับ

---------------------------------------
ที่มา : Motherboard

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 20/10/2016

Ei Wada Open Reel Ensemble





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy