หน้าแรก >> ข่าวทั้งหมด >> อ่านบทความ/ข่าว

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ส่งหนังสือถึง กสทช. คัดค้านการให้คลื่น 900 MHz แก่ AIS ชี้ผิดพรบ. และสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น

ยังคงเป็นเรื่องราวที่ยังไม่มีบทสรุปในตอนนี้ กับกรณีที่ทาง AIS ได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ขอรับช่วงสัมปทานคลื่น 900 MHz ต่อจาก JAS ในราคาสุดท้ายที่ JAS ชนะการประมูลไปที่ 75,654 ล้านบาท แต่ทาง กสทช. ยังไม่สามารถให้คำตอบได้นั้น ล่าสุด มีรายงานว่า ทาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ส่งหนังสือด่วน มาถึง กสทช. ให้พิจารณาทบทวนข้อเสนอของ AIS ในการขอรับช่วงคลื่นต่อใหม่ พร้อมกับแจ้งว่า เป็นการกระทำที่ผิดพรบ. และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายอื่น

โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้นำหนังสือด่วนของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มาโพสลง Twitter ซึ่งระบุว่า หากทาง กสทช. พิจารณาให้ AIS ได้คลื่นความถี่ 900 MHz ไปโดยที่ไม่มีการประมูล ถือเป็นการอนุญาตที่ผิด พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 และอาจมองได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม อันเป็นการเอื้อประโยชน์โดยการให้สิทธิแก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 และอาจเข้าข่ายเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ทาง สตง. มองว่า การกล่าวอ้างว่าหากนำคลื่นออกมาประมูลใหม่โดยใช้ราคาที่ JAS ประมูลได้เพราะคาดว่าจะไม่มีผู้สนใจนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เพราะอย่างน้อย AIS ย่อมสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้ dtac ซึ่งเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งก่อน ก็อาจสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน และหากมีการตัดสินใจให้ AIS ได้คลื่นความถี่โดยไม่มีการประมูล นอกจากจะเป็นการไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หากผู้ประกอบการรายอื่นยกเป็นเหตุในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ส่วนกรณีที่ AIS ขอให้ กสทช. คุ้มครองลูกค้า 2G จำนวน 4 แสนราย และมีที่ใช้บริการโรมมิ่งอีกราว 7.8 ล้านเลขหมายสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องก่อนสิ้นสุดระยะเวลาซิมดับภายใต้การคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองในวันที่ 14 เมษายนนี้นั้น สตง. เห็นว่า หาก กสทช. ให้ความคุ้มครองหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อให้ทาง AIS ไม่ต้องโรมมิ่งกับทาง dtac อาจถือว่า กสทช. ดำเนินการขัดกับประกาศคุ้มครองฯ และอาจเป็นมูลเหตุให้ผู้เสียประโยชน์ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องร้องได้ในที่สุด

 

 

---------------------------------------
ที่มา : bangkokbiznews.com , TakornNBTC

แปลและเรียบเรียง : techmoblog.com

Update : 08/04/2016

AIS JAS





Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy